วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

ดอกปีบ

พอเข้าป่าพาใจให้ชื่น
หอมรื่นดอกดวงพวงบุปผา
สาวหยุดพุดจีบปีบจำปา
กรรณิการ์มหาหงส์ชงโค
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ดอกไม้ประจำจังหวัด ปราจีนบุรี
ชื่อสามัญ Cork Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis Linn. F.
วงศ์ BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น กาซะลอง กาดสะลอง (ภาคเหนือ), เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปีบ (ภาคกลาง)
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ลำต้นสูงประมาณ 10–20 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ขรุขระ ใบออกเป็นช่อ ลักษณะใบกลมรี ขอบใบเรียบ โคนใบมนใต้ ใบเห็นเส้นใบชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ ตั้งตรงลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 2–3 นิ้ว สีขาวปนเหลืองขนาด 2 เซนติเมตปลายกลีบดอกเป็นแฉก 5 แฉก ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมืยติดอยู่ด้านในใกล้ปากท่อผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ภายในมีเมล็ดลักษณะแบน
การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ
สภาพที่เหมาะสม ดินร่วนซุย แสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
ถิ่นกำเนิด ไทย, พม่า

ดอกสายหยุด

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Desmos chinensis วงศ์ : ANNONACEAF ชื่อไทยพื้นเมือง : สายหยุด วรรณคดีไทยที่กล่าวถึง : อิเหนา, รามเกียรติ, นิราศนรินทร์, นิราศธารโศก, เงาะป่า, ลิลิตตะเลงพ่าย กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง สายหยุดเป็นไม้เลื้อยกิ่งไม้ยื่นต้น มีเถาหรือต้นใหญ่แข็งแรง สามารถเลื้อยพันเกาะต้นไม้หรือสิ่งอื่นไปได้ไกลตั้งแต่ 5 – 8 เมตร มักแตกกิ่งก้านสาขามากในบริเวณส่วนยอด และแผ่สาขาออกไปเป็นบริเวณกว้าง ใบสีเขียวเข็ม รูปรีขอบขนาดปลายใบแหลม ออกใบสลับกันตรงข้ามตามข้อต้นขนาดใบยาวประมาณ 12 – 14 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ตามข้อต้นโคนก้านใบ และตามตาติดกับกิ่งหรือลำต้น ดอกมีลักษณะคล้ายดอกกระดังงาไทย กลีบเล็กยาวดอกละ 5 กลีบ แต่ละกลีบจะบิดงออย่างดอกกระดังงาไทย เมื่ออ่อนเป็นดอกสีเขียว และเมื่อแก่จัดหรือบานเต็มที่ดอกจะมีสีเหลือง จะออกดอกเป็นระยะตลอดปี ดอกไม้ชนิดนี้ส่งกลิ่นหอมจัดในตอนเช้าตรู่ พอสายกลิ่นจะค่อยลดกลิ่นหอมลงและหมดกลิ่นเมื่อใกล้เที่ยงวัน พันธุ์ไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีเพาะเมล็ดหรือตอน แต่ก็เป็นไม้ที่ตอนออกรากยาก และตายง่ายกว่าต้นที่ปลูกจากเมล็ด เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งการปลูกบนที่ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง ในสภาพดินอันชุ่มชื้น เมื่อปลูกได้โตพอควรแล้ว ก็ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องปุ๋ยเท่าใดนัก แต่เมื่อต้นยังเล็ก ๆ อยู่ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน และปุ๋ยหมักไว้บ้าง เป็นพันธุ์ไม้ที่เติบโตช้า ปลูกโดยการเพาะเมล็ดและบำรุงเต็มที่ประมาณ 3 – 4 ปี จึงจะมีดอก
สายหยุดเป็นพันธุ์ไม้ของไทยแท้ชนิดหนึ่ง และมีกล่าวถึงอยู่ในวรรณคดีไทยมากที่สุด แต่ชื่อพฤกษศาสตร์ของสายหยุดฟังดูเหมือนไม้เมืองจีนได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

ดอกรสสุคนธ์

มะลิวันพันกอพฤกษาดาด
เหมือนผ้าลาดขาวละออหนอน้องเอ๋ย
รสสุคนธ์ขึ้นเป็นดงอย่าหลงเลย
กำลังเผยกลีบเกสรสลอนชู
เงาะป่า : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tetracera loureiri Pierre.
ตระกูล Dilleniaceae
ชื่อสามัญ -
ถิ่นกำเนิด ไทย
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง โคนลำต้นใหญ่ได้ถึง 15 เซนติเมตร และเลื้อยได้ใกลถึง 8 เมตรกิ่งออ่นและยอดออ่นมีขนแข็งสั้นๆสากคายมือ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่กลับถึงขอบขนาน กว้าง 4-7 เซนติเมตรยาว 7-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลมทู่ถึงกลมมน โคนใบแหลมถึงสอบแคบ ขอบใบจัก สีเขียวเข้ม เนื้อใบสาก เส้นกลางใบและเส้นใบด้านบนเป็นรอยลึก เส้นใบ 10-15 คู่ ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ช่อดอกสีขาวยาว 5-15 เซนติเมตร ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกยอ่ยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ขนาดเล็กติดทนอยู่จนเป็นผล เมื่อดอกย่อยบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 เซนติเมตร กลีบดอกร่วงงาย มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก คลายเส้นด้ายสีขาว ดอกเริ่มบานและส่งกลิ่นหอมในช่วงพลบค่ำแจนถึงช่วงกลางวัน ดอกบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ และบานวันเดียวแล้วโรย ผลค่อนข้างกลม สีส้มถึงสีแดง มี 2-3 ผล อยู่รวมกันเป็กระจุก เมล็ดรูปไข่ อยู่ในเยื่อรูปถ้วย สีแดง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ รสสุคนธ์ขาว เป็นไม้กลางแจ้ง แสงแดดจัด ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี ปลูกเป็นไม้กระถางได้ดีใช้ไม้ปักให้เลื้อยไต่พันเมื่อต้นโตใหญ่เหมาะปลูกประดับซุ้มเลื้อยเกี่ยวรั้วหรือตอไม้ในที่โล่งตัดแต่งกิ่งหรือช่อดอกเก่าทิ้งมิให้รกเกินไป จะมองดูสวยงามและเร่งให้ออกดอกชุดใหม่ได้เร็วขึ้น

ดอกบุหงาตันหยง

“…โกฐกระวานกานพลูดูระบัด
กำจายกำจัดสารพันทั้งตันหยง
หอมระรื่นชื่นใจที่ในดง
พฤกษาทรงเสาวคนธ์ดังปนปรุง…”
นิราศพระแท่นดงรัง : สุนทรภู่
ชื่ออื่นๆ : Divi Divi
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Caesalpinia coriaria Willd.
วงศ์ : LEGUMINOSAE - CAESALPINIACEAE
ตันหยงเป็นไม้ต้นสูง 6- 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาแผ่เป็นพุ่มใบ ประกอบแบบขนนกออกสลับ ปลายมน ไม่มีก้านใบย่อยดอกช่อ สีขาวอมเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง หอมแรง เล็ก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่งผล เป็นฝักแบน บิดงอ ออกดอกเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมการขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งประโยชน์ ฝักมีสารฝาด ใช้ใส่แผลเปื่อย ย้อมหนังสัตว์ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน เพิ่มเติมเพลงประกอบเกี่ยวกับดอกตันหยง
เพลงบุหงาปัตตานี
คำร้อง ทำนอง สุเทพ วงศ์คำแหง
เรียบเรียงเสียงประสาน บดินทร์
ราฮิมโอ้บุหงาปัตตานีที่รักเอย เจ้างามน่าเชย น่าภิรมย์ชมชื่น
ดวงยิหวาพาใจ พี่ใฝ่ฝันทุกคืน พี่ต้องตรมขมขื่น ทุกข์ใจหมองเศร้า
โอ้บุหงาปัตตานีที่รักเอย พี่นอนละเมอใฝ่คนึงถึงเจ้า โ
อ้บุหงาพาใจให้คิดถึงไม่เบา พี่คร่ำครวญถึงเจ้า ทุกวันเวลา
โอ้บุหงาปัตตานี ฮา…….บุหงาปัตตานี พี่รักเธอ พี่รักเธอ พี่รักเธอ
พี่รักเธอยิ่งกว่าชีวา พี่ขอสัญญา พี่ขอสัญญา พี่ขอสัญญา จะรักเธอจนตาย
โอ้บุหงาปัตตานีที่รักเอย เจ้างามน่าเชย น่าภิรมย์ไม่หน่าย
โอ้บุหงาตานีพี่ขอรักไม่คลาย พี่มอบดวงฤทัย ให้กับบุหงาปัตตานี

ดอกกรรณิการ์

“… กรรณิการ์ ก้านสีแดงสด
คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
เห็นเนื้อเรื่อโรงราง
สองบ่าอ่าโนเน่ …”
วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง “ นิราศธารโศก ” ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Nyctanthes arbor – tristis
ชื่อสามัญ : Night Jasmine
ชื่อวงศ์ : Verbenaceae
กรรณิการ์เป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร ใบสากคาย ขอบใบเป็นจักตื้น ๆ และใบออกทิศทางตรงข้ามกัน
ดอกสีขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ลักษณะคล้ายดอกมะลิ แต่มีขนาดกลีบแคบกว่า ปลายกลีบมี ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้มสด ดอกบานส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน และจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น
ผลมีลักษณะกลมแบน ขณะอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีดำ
การขยายพันธุ์ ใช้ตอนกิ่ง
ทางด้านสมุนไพร เปลือกให้น้ำฝาด เปลือกชั้นในเมื่อผสมกับปูนขาวจะให้สีแดง ดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้ เช่นเดียวกับมะลิ ส่วนของดอกที่เป็นหลอด สกัดเป็นสีย้อมผ้าไหม ใบใช้แก้ไข้และโรคปวดตามข้อ น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาระบาย และเป็นยาขมเจริญอาหาร

ดอกการเวก

“… สามกษัตริย์เที่ยวชมบุปผชาติ
ดอกดกเดียรดาษในสวนขวัญ
เกดแก้วพิกุลแกมพิกัน
จวงจันทร์ลำดวนกระดังงา …”
วรรณคดี : “ รามเกียรติ์ ”
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Artabotrys siamensis
ชื่อสามัญ : Artabotrys
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
ชื่ออื่น ๆ : กระดังงาเถา กระดังงัว
การเวกเป็นไม้เถาขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อไม้แข็ง มักพบตามป่าชื้นทั่ว ๆ ไปนิยมปลูกให้เลื้อยเป็นไม้ซุ้มตามเรือนต้นไม้ หรือซุ้มประตู ใบร่มทึบ อายุยืนมาก ออกดอกตลอดปี ขึ้นได้ดีในทุกที่ทุกแห่งที่มีความชื้นพอสมควร ชอบอยู่กลางแจ้ง ลำต้นอาจมีขนาดโคนต้นใหญ่ ๘ - ๑๒ นิ้ว
ลำต้นมีผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาอมดำหรือน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีต้นน้ำมันกระจายอยู่
ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวจัด เป็นมัน รูปมนรี ปลายแหลม ยาวประมาณ ๖ - ๗ นิ้ว แต่กว้างกว่ากระดังงา
ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นขาว เหลืองอ่อน จนแก่จัดมีสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมรุนแรงและส่งกลิ่นไปได้ไกล ดอกเป็นกลีบเรียวยาวแยกจากกัน ๖ กลีบ ดอกใหญ่กว่าและกลีบดอกหนากว่ากระดังงา เมื่อดอกแก่จะร่วงเป็นผล
ผลมีลักษณะกลมรี เป็นพวง สีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เมื่อผลแก่จัดภายในผลแก่มีเมล็ดสีดำเป็นเมือก ๆ
การขยายพันธุ์ นิยมใช้กิ่งตอน เพราะโตเร็วกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ดอกบุนนาค

พิกุลบุนนาคบาน
กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร
เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
กาพย์เห่เรือ : พระราชนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
บุนนาค (นาคบุตร) เป็นไม้ต้นใหญ่คล้ายสารภี แต่ใบเล็กเรียวกว่า ดอกสวยคล้ายกับสารภี แต่โตกว่า ขนาดกว้างประมาณ 4-5 ซม. กลิ่นหอมเย็นกว่า เจ้าของมักเก็บตากแห้งเอาไว้ และขายให้แก่ร้านเครื่องยา ดอกออกเป็นฤดู เช่นเดียวกับสารภี
บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทยและเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับสารภี และมะดัน พบตามป่าชื้น เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีคุณค่ามาก ใช้ในงานก่อสร้างได้ทุกประเภท เรือนยอดคล้ายรูปเจดีย์ ใบดกทึบ ยอดอ่อนสีแดง สวยงามมาก ดอกใหญ่สีขาว 4 กลีบ มีเกสรสีเหลือง เป็นกระจุกใหญ่อยู่ตรงกลาง ดอกบานเต็มที่มีขนาดใหญ่ 5-7 ซม. ขยายพันธุ์โดยวิธีตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด เกสรดอกบุนนาคใช้ผสมทำยาหอมบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาชูกำลัง น้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียงและทำเครื่องสำอาง
พิกุลบุนนาคมากมี
ตามหว่างวิถีขาวสด
ชมพลางทางเร่งรีบรถ
เลียบตามบรรพตคีรี
อิเหนา..พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

ดอกกฤษณา

เดินมาพากันชมพฤกษาสูง
ยางยูงแก้วเกดกฤษณา
กระลำพักสักสนคนทา
ต้นพะวาขานางยางทราย
อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ตราด
ชื่อสามัญ : Eagle Wood, Lignum Aloes, Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia, Akyaw
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria subintegra Ding Hau
วงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่ออื่น : กฤษณา (ภาคตะวันออก), กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี), ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้) ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ เนื้อไม้มีสีขาว ต้นไม้ชนิดนี้หากมีบาดแผลซึ่งอาจเกิดจากการตัด แมงเจาะใช หรือเป็นโรคจะขับสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในลำต้นออกมาทำหน้าที่ ต้านความผิดปกติเหล่านั้น ทำให้บริเวณที่เกิดแผลดังกล่าวเปลี่ยน เป็นสีดำและก่อตัวเป็นผลึก ทำให้เกิดความแข็งแกร่งของเนื้อไม้ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า &กฤษณา" มีกลิ่นหอม ความผิดปกติ จะขยายไปเรื่อยๆ ทำให้สีดำมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแก่นกฤษณา ที่มีสีดำนั้น ถือว่าเป็นไม้คุณภาพชั้นหนึ่ง มีราคาสูงมาก หากมีสีน้ำตาลเทา คุณภาพจะรองลงมา ถ้ามีสีเหลืองปนดำ ถือว่าเป็นคุณภาพต่ำ ซึ่งไม้กฤษณาเป็นสินค้าที่นำมาทำ หัวน้ำหอม ตลอดจนเครื่องหอมหลายชนิด
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม : ที่ชุ่มชื้นตามป่าดงดิบชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร สามารถขึ้นได้ในที่สูงถึง 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางหรือมากกว่า
ถิ่นกำเนิด : พบในป่าดงดิบของจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด

ดอกสารภี

รักลารายล้อมสลับสี
ม่วงสนหมู่โศกสารภี
ลิ้นจี่ลำเจียกจิกจันทน์…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพื้นเมือง สารภี สารภีแนน สร้อยภี ทรพี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis Kosterm.
ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE
ชื่อสามัญ Saraphi, Saraphi naen, Soi phi, Thoraphi
การกระจายพันธุ์ ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร
ประโยชน์
ข้อมูลพื้นบ้าน ปลูกเป็นไม้ประดับที่ให้ดอกหอม ให้ร่มเงาเพราะแตกใบเป็นพุ่มหนา และใช้บังลม ดอกและเกสรใช้ทำยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง
ข้อมูลจากเอกสาร ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงา และบังลม
ใช้เป็นสมุนไพร
ดอก : รสขมหอมเย็น ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้โลหิต พิการ แก้ไข้มีพิษร้อน เจริญอาหารบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ชูกำลัง
เกสร : รสหอมเย็น ใช้แก้ไข้ บำรุงครรภ์

ดอกตะแบก

“… ช้องนางช้างน้าวสายหยุด
ช่อตะแบกชาตบุษย์ชูก้าน
พิกุลพวกแก้วเป็นแถวบาน
พุดตาลพันแต้วตำปี …”
วรรณคดี : “ รามเกียรติ์ ”
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Lagerstroemia frosreginae, Retz.
ชื่อสามัญ : Queen's Flower
ชื่อวงศ์ : Lythraceae
ชื่ออื่น ๆ : กระแบก
ตะแบกเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดกลางถึงใหญ่ ชอบขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าราบ เป็นไม้กลางแจ้งออกดอกปีละครั้ง
ลำต้นมีเปลือกเรียบสีขาวเป็นมัน เมื่อแก่ผิวร่อนคล้ายต้นฝรั่ง ลำต้นสูง แตกกิ่งก้านด้านบน ใบโต ปลายใบแหลมคล้ายใบลั่นทม เมื่อออกดอกจะทิ้งใบ
ดอกสีชมพูอมม่วง บางพันธุ์ดอกสีขาว เวลาดอกบานจะดูสะพรั่งสวยงามมาก เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นช่อ ลูกคล้ายหมากดิบ การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด